เทคนิคการจัดการความเสี่ยงขั้นสูงในการเทรดแบบ Social Trading

Adam Lienhard
Adam
Lienhard
เทคนิคการจัดการความเสี่ยงขั้นสูงในการเทรดแบบ Social Trading

การเทรดแบบ Social Trading เป็นการเทรดที่นักลงทุนสามารถคัดลอกกลยุทธ์ของนักเทรดที่มีประสบการณ์ โดยการเทรดเช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงวิธีที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงตลาดการเงินอย่างสิ้นเชิง บทความนี้จะสำรวจกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งปรับแต่งมาโดยเฉพาะสำหรับการเทรดแบบ Social Trading

1. การกระจายพอร์ตนักเทรดที่คัดลอก

หนึ่งในเทคนิคการจัดการความเสี่ยงในการเทรดแบบ Social Trading ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการกระจายพอร์ตของนักเทรดที่คุณคัดลอก แทนที่จะนำเงินทุนทั้งหมดไปลงทุนกับกลยุทธ์ของนักเทรดคนเดียว ควรพิจารณากระจายการลงทุนไปยังนักเทรดหลายคนที่มีสไตล์การเทรด สินทรัพย์ และตลาดที่แตกต่างกัน วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากผลการดำเนินงานของนักเทรดรายใดรายหนึ่งที่อาจไม่เป็นไปตามคาด

  • กระจายการติดตามไปยังประเภทสินทรัพย์ต่างๆ คัดลอกนักเทรดที่เชี่ยวชาญในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ฟอเร็กซ์ หุ้น และคริปโตเคอร์เรนซี่
  • ผสมผสานกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาว ควรผสมผสานนักเทรดที่ใช้กลยุทธ์การเทรดความถี่สูง (High-Frequency Trading) กับนักเทรดที่มีแนวทางการลงทุนระยะยาว

ด้วยวิธีนี้ คุณจะสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดจากนักเทรดรายใดรายหนึ่งที่อาจมีผลประกอบการต่ำกว่าคาดได้

2. การจัดสรรความเสี่ยงต่อนักเทรดแต่ละราย

การจัดสรรความเสี่ยงหมายถึงการแบ่งเงินทุนของคุณไปยังนักเทรดรายต่างๆ ตามระดับความเสี่ยงที่พวกเขามี นักเทรดบางรายอาจมีแนวทางการเทรดที่ดุดัน มุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงแต่ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่นักเทรดบางรายอาจเน้นการรักษาเงินทุน โดยสร้างผลกำไรที่ช้าแต่มั่นคง

ขั้นตอนสำคัญในการจัดสรรความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ:

  • ประเมินคะแนนความเสี่ยงของนักเทรด แพลตฟอร์มการเทรดแบบ Social Trading ส่วนใหญ่จะมีคะแนนความเสี่ยงหรือตารางสถิติผลการดำเนินงานของนักเทรดให้ตรวจสอบ ใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อกำหนดสัดส่วนเงินทุนที่จะจัดสรรให้กับนักเทรดแต่ละราย
  • จำกัดการเปิดรับกับนักเทรดที่มีความเสี่ยงสูง สำหรับนักเทรดที่มีคะแนนความเสี่ยงสูง ควรจัดสรรเงินทุนส่วนน้อยของพอร์ตให้พวกเขา ในขณะที่นักเทรดที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า อาจได้รับการจัดสรรเงินทุนมากขึ้นเพื่อความมั่นคงของพอร์ตโดยรวม
  • ปรับสมดุลการจัดสรรเป็นระยะ ควรตรวจสอบและปรับพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอตามผลการดำเนินงานล่าสุดของนักเทรดและสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

3. การตั้งค่า Stop-Loss และ Take-Profit

การใช้ระดับ Stop-Loss และ Take-Profit เป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องการลงทุนของคุณ การตั้งค่าอัตโนมัติเหล่านี้ช่วยให้คุณกำหนดเวลาที่จะออกจากตำแหน่งการคัดลอกการเทรดเมื่อถึงเกณฑ์ที่กำหนด

  • ตั้งค่า Stop-Loss สำหรับการคัดลอกการเทรด แพลตฟอร์มหลายแห่งอนุญาตให้คุณปรับแต่ง Stop-Loss สำหรับการเทรดที่คัดลอกได้ เพื่อให้มั่นใจว่าหากการเทรดเริ่มขาดทุนเกินกว่าร้อยละที่กำหนด ระบบจะปิดตำแหน่งโดยอัตโนมัติเพื่อจำกัดการขาดทุน
  • กำหนดระดับ Take-Profit ในทางกลับกัน การตั้ง Take-Profit ช่วยให้คุณล็อกกำไรเมื่อผลตอบแทนถึงระดับที่ต้องการ วิธีนี้ช่วยให้คุณเก็บกำไรก่อนที่ตลาดจะกลับตัวและทำให้ผลกำไรหายไป
หากคุณตั้ง Stop-Loss ไว้ที่ 10% และ Take-Profit ไว้ที่ 20% คุณจะจำกัดความเสี่ยงของการขาดทุนไม่เกิน 10% ในขณะที่ล็อกกำไรทันทีเมื่อผลตอบแทนถึง 20%

4. การควบคุมเลเวอเรจ

เลเวอเรจช่วยขยายทั้งผลกำไรและการขาดทุน ทำให้เป็นเครื่องมือที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในการเทรด หลายคนที่เทรดแบบ Social Tradingใช้เลเวอเรจเพื่อเพิ่มผลตอบแทน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การบริหารเลเวอเรจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

  • ตั้งขีดจำกัดเลเวอเรจส่วนบุคคล แม้ว่านักเทรดที่คุณคัดลอกจะใช้เลเวอเรจสูง แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ให้คุณปรับหรือลดเลเวอเรจในบัญชีของคุณเองได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้เลเวอเรจที่เกินตัว ควรใช้เลเวอเรจอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะหากคุณเป็นมือใหม่ในการเทรดแบบ Social Trading หรือหากนักเทรดที่คุณคัดลอกดำเนินการในตลาดที่มีความผันผวนสูง

5. การติดตามผลและปรับกลยุทธ์ของนักเทรด

เมื่อคุณได้ตั้งค่าพอร์ตการคัดลอกนักเทรดแล้ว อย่าใช้แนวคิด “ลอกแล้วลืมเลย” เพราะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และผลการดำเนินงานของนักเทรดก็อาจเปลี่ยนไปตามปัจจัยต่างๆ

ติดตามผลการดำเนินงานของนักเทรดแต่ละรายว่าเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับสภาวะตลาด แม้แต่นักเทรดชั้นนำก็อาจมีช่วงเวลาที่ผลการเทรดต่ำกว่าคาดเป็นเวลานาน หากนักเทรดที่คุณคัดลอกมีผลประกอบการที่ต่ำกว่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่องหรือนอกเหนือจากกลยุทธ์เดิมที่ใช้ อาจถึงเวลาที่ต้องทบทวนการลงทุนในนักเทรดรายนั้น

อย่าลืมปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสภาพตลาด เช่น ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง คุณอาจต้องหันไปคัดลอกนักเทรดที่มีความเชี่ยวชาญในการเทรดในสภาพแวดล้อมแบบนี้

6. การประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทน

ในการเทรดแบบ Social Trading การเข้าใจสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนเป็นสิ่งสำคัญ นักเทรดบางคนอาจให้ผลตอบแทนสูง แต่ต้องแลกมาด้วยการรับความเสี่ยงที่มากเช่นกัน การประเมินอัตราส่วนความเสี่ยงต่อผลตอบแทนของนักเทรดแต่ละรายจะช่วยให้คุณตัดสินใจลงทุนได้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้

พิจารณาว่านักเทรดมีช่วงขาดทุนมากน้อยเพียงใดในอดีตเมื่อเทียบกับกำไรของพวกเขา นักเทรดที่ทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอและมีช่วงขาดทุนที่น้อยอาจให้สมดุลความเสี่ยงต่อผลตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับนักเทรดที่มีกำไรสูงแต่มีความผันผวนมาก

หากคุณต้องการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ควรเลือกนักเทรดที่มีอัตราส่วนความเสี่ยงต่อผลตอบแทนที่ต่ำกว่า แต่หากคุณพร้อมรับความเสี่ยงเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น คุณก็สามารถคัดลอกนักเทรดที่ใช้กลยุทธ์ที่ดุดันมากขึ้นได้

7. การจัดการความเสี่ยงทางจิตวิทยา

การเทรดแบบ Social Trading อาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์ได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดการชะลอตัว ความกลัวที่จะพลาดโอกาส (FOMO) การตัดสินใจขายด้วยความตื่นตระหนก หรือความมั่นใจเกินไป ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ การจัดการความเสี่ยงทางจิตวิทยาจึงเน้นที่การควบคุมอารมณ์และยึดมั่นในกลยุทธ์ที่วางไว้

  • หลีกเลี่ยงการตอบสนองต่อความผันผวนระยะสั้น ควรเชื่อมั่นในกลยุทธ์ระยะยาวของนักเทรดที่คุณคัดลอก โดยเฉพาะหากพวกเขามีผลงานที่พิสูจน์ได้ว่าเชื่อถือได้
  • ตั้งความคาดหวังอย่างสมเหตุสมผล ควรเข้าใจว่าต่อให้เป็นนักเทรดชั้นนำก็ต้องเผชิญกับการขาดทุนบ้าง การยึดมั่นในกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงโดยรวมจะช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการตัดสินใจเร่งรีบที่อาจเกิดจากผลลัพธ์ระยะสั้นได้

การใช้เทคนิคการจัดการความเสี่ยงขั้นสูงในการเทรดแบบ Social Trading ไม่ได้มีเพียงแค่การคัดลอกนักเทรดที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระจายพอร์ตนักเทรด การควบคุมเลเวอเรจ การตั้งค่า Stop-Loss และ Take-Profit ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การใช้วิธีเหล่านี้อย่างมีวินัยจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูงสุดได้

ติดตามเราได้ที่ เทเลแกรม, อินสตาแกรม และ เฟซบุ๊ก เพื่อรับการอัปเดตจาก Headway ทันที